มช. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เชิญผู้นำและเจ้าหน้าที่อาวุโส APEC ร่วมเสวนาพิเศษ มุ่งขับเคลื่อน Startup และผู้ประกอบการไทยสู่สากล
สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยกับเสวนาสุดพิเศษ! Special Forum โดยกลุ่มผู้นำ APEC ภายใต้หัวข้อ “Driving Startup, and Entrepreneurship towards Sustainability: A Dialogue with APEC Officials” (การขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน โดยผู้นำและเจ้าหน้าที่อาวุโส APEC) . ณ Northern Science Park เชียงใหม่ ได้รับความสนใจจากชาวเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก ทั้ง นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs และเหล่าStartups งานนี้ร่วมสร้างผู้ประกอบการที่สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือของ APEC และได้เปิดเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ จัดงานเสวนาพิเศษ APEC Academic Forum ภายใต้หัวข้อ “Driving Startup and Entrepreneurship towards Sustainability: A Dialogue with APEC Officials” (การขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน โดยผู้นำและเจ้าหน้าที่อาวุโส APEC) เพื่อขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาประเทศ สร้างความรู้ความเข้าใจต่อบทบาทการประชุม APEC และบทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานจัดขึ้น ในวันพุธ ที่ 24 สิงหาคม ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและเปิดงาน ซึ่งงานนี้มีผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
การเสวนาพิเศษครั้งนี้ได้มุ่งเน้นบทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และโอกาสภายใต้ความร่วมมือ APEC ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและสนับสนุนผู้ประกอบการ และ Startups ไปสู่สากล ซึ่งได้รับเกียรติจาก Dr.Rebecca Fatima Sta Maria APEC Executive Director คุณเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย รองศาตราจารย์ ดร.นิสิต พันธมิตร ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภายในงานประกอบด้วยการเสวนาเกี่ยวกับนโยบายของ APEC ในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ แนวคิดทางธุรกิจเพื่อขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประะเทศ APEC อย่างยั่งยืน รวมถึงผู้ที่เข้าร่วมงานยังมีโอกาสที่จะสร้าง Connection กับกลุ่มธุรกิจในภูมิภาค Asia Pacific ซึ่งจะขับเคลื่อนและสร้างผู้ประกอบการที่สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือของ APEC และสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เป็นเวทีความร่วมมือที่มีความสำคัญต่อประชากรโลกอย่างมาก นอกจากจะช่วยส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้การสนับสนุน จากการเป็นสถาบันเพื่อการศึกษาที่ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจของ APEC เสมอมา เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ แผ่ขยายการพัฒนาสู่สังคมอย่างทั่วถึงในทุกมิติ
cr.https://cmu.ac.th/th/article/15640735-7e5a-4c0a-850b-cfd7c6e79824